วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

กำไรขั้นต้น / ส่วนต่างกำไรขั้นต้น การตีความงบการเงิน วอร์เรน บัฟเฟตต์


กำไรขั้นต้น/ส่วนต่างกำไรขั้นต้น  ตัวเลขสำคัญสำหรับวอร์เรนในการค้นหาขุมทองในระยะยาว

           ตอนนี้หากเรานำตัวเลขที่บริษัทรายงานว่าคือ  ต้นทุนสินค้าขายมาหักจากยอด  รวมรายได้ ของบริษัท  เราจะได้กำไรขั้นต้น  ตัวอย่าง เช่น : ยอดรวมรายได้ $10 ล้าน  ลบต้นทุนสินค้าขาย $7 ล้าน เท่ากับกำไรขั้นต้น $3 ล้าน

            กำไรขึ้นต้น  คือเงินที่บริษัททำได้จากรายได้ขั้นต้นหลังจากหักต้นทุนของวัตถุดิบและแรงงานที่ใช้ในการทำสินค้าแล้ว  แต่ยังไม่รวมค่าใช้จ่าย  เช่น  ค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร  ค่าเสื่อมราคา และต้นทุนของดอกเบี้ยในการดำเนินธุรกิจ  

             ตัวเลขกำไรขั้นต้นเพียงตัวเดียวบอกอะไรได้น้อยมาก  แต่เราสามารถนำตัวเลขนี้มาคำนวณส่วนต่างกำไรขั้นต้นของบริษัท  ซึ่งจะบอกให้เราได้ทราบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของเศรษฐกิจของบริษัทนั้นๆ ได้อย่างดี  สมการในการหาส่วนต่างกำไรขั้นต้น คือ

            กำไรขั้นต้น / ยอดรวมรายได้ = ส่วนต่างกำไรขั้นต้น 

            สำหรับวอร์เรน  บัฟเฟตต์  สิ่งที่เขามองหาคือ  บริษัที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนบางอย่าง  หรือธุรกิจที่เขาสามารถทำกำไรได้ในระยะยาว  และสิ่งที่เขาพบก็คือ  บริษัทที่มีเศรษฐกิจยอดเยี่ยมที่ได้เปรียบในระยะยาวมักจะมีส่วนต่างกำไรขั้นต้นสูงอย่าง สม่ำเสมอ กว่าบริษัทอื่น เราจะยกตัวอย่างใหคุณดู

           ส่วนต่างรายได้ขั้นต้นของบริษัทที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ บ่งชี้แล้วว่ามีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนรวมถึง : โคคา - โคล่า ซึ่งมีส่วนต่างกำไรขั้นต้น 60% หรือมากกว่าให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ  บริษัทจัดอันดับพันธบัตรมูดี้ส์  มีส่วนต่าง 73% เดอะ  เบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ เรลเวย์ 61% และบริษัทเคี้ยวมันอย่างหมากฝรั่งริกลี่ย์ 51% 

           จากการเปรียบเทียบธุรกิจชั้นยอดเหล่านี้กับบริษัทอื่นๆ ทำให้เราทราบถึงความแตกต่าง  บริษัทที่มีเศรษฐกิจของธุรกิจไม่ดีนักในระยะยาว เช่น สายการบินยูไนเต็ด  ที่ล้มละลายฟื้นๆ ฟุบๆ เป็นประจำ  มีส่วนต่างกำไรขั้นต้น 14% บริษัทผลิตรถยนต์เจนเนอรัล มอเตอร์สที่กำลังประสบปัญหาทำได้ 21% แบบหืดขึ้นคอ, ยูเอส สตีล บริษัทซึ่งเริ่มทำกำไรได้แล้วแต่ยังไม่แข็งแกร่งนักมี 17% และยางกู๊ดเยียร์ ที่วิ่งได้ในทุกสภาพอากาศ  แต่ในเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักเริ่มวิ่งไม่ออก  มีตัวเลขที่ไม่น่าประทับใจนักที่ 20% 
      
          ธุรกิจเทคโนโลยีคือธุรกิจที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ขออยู่ห่างๆ เพราะว่าเขาไม่เข้าใจ  แม้ไมโครซอฟท์จะมีส่วนต่างกำไรขั้นต้นสม่ำเสมอสูงถึง 79% ขณะที่แอปเปิ้ลอยู่ที่ 33% ตัวเลขร้อยละนี้ชี้ให้เห็นว่า ไม่โครซอฟท์มีเศรษฐกิจที่ดีกว่าจากการขายระบบปฏิบัติการและซอฟแวร์  เทียบกับแอปเปิ้ลซึ่งขายฮาร์ดแวร์และบริการ

           สิ่งที่สร้างส่วนต่างกำไรขั้นต้นสูงให้กับบริษัทคือ  ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  ซึ่งทำให้บริษัทมีอิสระในการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์และบริการที่จำหน่ายสูงกว่าต้นทุนสินค้าขายได้มาก  หากไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน  บริษัทจะต้องต่อสู้กับคู่แข่งด้วยการลดราคาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ขาย  ซึ่งทำให้ส่วนต่างกำไรและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงด้วยอย่างแน่นอน

          ดังนั้น จึงเป็นกฏธรรมดามาก (และมีข้อยกเว้น) ว่า : บริษัทซึ่งมีส่วนต่างกำไรขั้นต้น 40% หรือมากกว่า  มีแนวโน้มที่จะเป็นบริษัทที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนประการใดประการหนึ่ง  ในขณะที่บริษัทที่มีตัวเลขน้อยกว่า 40% มีแนวโน้มที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง  ซึ่งการแข่งขันส่งผลกระทบต่อส่วนต่างกำไรโดยรวม (นี่ก็มีข้อยกเว้นด้วยเช่นกัน)  ส่วนต่างกำไรขั้นต้น 20% หรือน้อยกว่า มักเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ มีการแข่งขันที่ดุเดือด  และไม่มีบริษัทใดในอุตสาหกรรมนี้ที่สามารถสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่ยั่งยืนเหนือคู่แข่งได้  และบริษัทในอุตสหกรรมที่มีการแข่งขันสูงซึ่งไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันใดๆ ไม่มีวันจะทำให้เรารวยได้ในระยะยาว 

           ในขณะที่ส่วนต่างกำไรขั้นต้นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าบริษัทจะรอบพ้นจากความล้มเหลว  แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ตัวแรกๆ ว่าบริษัทมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนและมีความสม่ำเสมอ  วอร์เรน บัฟเฟตต์ เน้นคำว่า "ยั่งยืน" เป็นอย่างมาก  ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย  เราจึงควรตรวจสอบตัวเลขส่วนต่างกำไรขั้นต้นของบริษัทในช่วง 10 ปีล่าสุด  เพื่อความมั่นใจว่าบริษัทมีความ "สม่ำเสมอ" วอร์เรนทราบว่า  เมื่อเราจะค้นหาบริษัทที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน "ความสม่ำเสมอ" คือหัวใจของเกมนี้

           ตอนนี้เราจะพูดถึงสาเหตุหลายประการที่ทำให้บริษัทซึ่งมีส่วนต่างผลกำไรสูงหลงทาง  ทำให้บริษัทสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว  
  1. คือต้นทุนการค้นคว้าที่สูงลิ่ว
  2. บริษัทมีต้นทุนการขายและการบริหารสูง
  3. ต้นทุนดอกเบี้ยจากหนี้ของบริษัทสูง  
           ค่าใช้จ่าย 1 ใน 3  ตัวนี้สามารถทำความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของธุรกิจได้ในระยะยาว  ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเหล่านี้เรียกว่า  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นเสมือนหนามยอกอกของทุกธุรกิจ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น