วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

กำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้น การตีความงบการเงิน วอร์เร็น บัฟเฟตต์



กำไรสุทธิ : สิ่งที่วอร์เรนมองหา

        หลังจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดและภาษีถูกนำมาหักออกจากรายได้ของบริษัทแล้ว  เราก็จะได้กำไรสุทธิของบริษัท  และตรงนี้คือที่ซึ่งเราจะทราบว่าบริษัททำเงินได้เท่าใดหลังจากที่จ่ายภาษีรายได้แล้ว  มีแนวคิดสองสามแนวคิดที่วอร์เรนใช้อยู่เมื่อเขาดูตัวเลขนี้  ซึ่งจะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ว่าบริษัทนั้นๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่.....เพราะฉะนั้น  ทำไมเราไม่เริ่มที่นี่เลยล่ะ

         แรกสุด  ในรายการของวอร์เรน บัฟเฟตต์คือ  ประวัติของกำไรสุทธินี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่  ตัวเลขกำไรสุทธิเพียงปีเดียวไม่มีค่าสำหรับวอร์เรน บัฟเฟตต์  สิ่งที่วอร์เรนสนใจคือภาพกำไรนั้นมีความสม่ำเสมอหรือไม่ และแนวโน้มในระยะยาวสูงขึ้นเรื่อยๆ ไหม --- ทั้ง 2 ข้อนี้แปลความหมายได้เท่ากับ "ความยั่งยืน" ของความได้เปรียบในการแข่งขัน... สำหรับวอร์เรนแล้ว  การเดินทางไม่จำเป็นต้องราบรื่นเสมอ  สิ่งที่เขามองหาคือประวัติแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

        อย่างไรก็ตาม  ให้หมายเหตุไว้ว่า : จากโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัท  เป็นไปได้ว่าประวัติแนวโน้มกำไรสุทธิของบริษัทอาจต่างจากประวัติแนวโน้มของกำไรต่อหุ้น  โครงการซื้อหุ้นคืนจะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากการลดลงของจำนวนหุ้นที่นำมาหารกำไรสุทธิของบริษัท  ทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น  แม้ว่ากำไรสุทธิที่แท้จริงจะไม่เพิ่มขึ้นเลยก็ตาม  ในกรณีสุดโต่ง  โครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทยังทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรสุทธิจริงของบริษัทลดลงก็มี

      แม้ว่าการวิเคราะห์การเงินส่วนใหญ่จะเน้นที่กำไรต่อหุ้นของบริษัทแต่วอร์เรน  บัฟเฟตต์จะมองที่กำไรสุทธิของธุรกิจเพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นกันแน่

      สิ่งที่วอร์เรน  บัฟเฟตต์เรียนรู้ก็คือ  บริษัที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนจะรายงานร้อยละของกำไรสุทธิต่อยอดรวมรายได้สูงกว่าคู่แข่ง  วอร์เรนบอกว่าหากได้เลือกเป็นเจ้าของบริษัทที่มีกำไร $20,000 ล้านเหรียญ  จากรายได้รวม $10,000 ล้าน  กับบริษัทที่มีกำไร $5,000 ล้าน จากรายได้รวม $100,000 ล้าน  เขาจะเลือกบริษัทที่มีกำไร $2,000 ล้าน  ทั้งนี้ก็เพราะว่า  บริษัที่มีกำไรสุทธิ $2,000 ล้าน  มีกำไรเท่ากับ 20% ของยอดรวมรายได้  ในขณะที่บริษัทมีกำไร $5,000 ล้าน  มีกำไรเพียง 5% ของยอดรวมรายได้เท่านั้น

     ดังนั้น  ตัวเลขยอดรวมรายได้อย่างเดียวจึงบอกอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจของธุรกิจน้อยมาก  แต่อัตราส่วนของกำไรสุทธิต่อยอดรวมรายได้จะสามารถบอกอะไรได้มากมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจของธุรกิจเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น 

     ธุรกิจที่น่าทึ่ง  เช่น โคคา - โคล่า  มีกำไร 21% จากยอดรวมรายได้ขณะที่มูดี้ส์ทำได้ 31% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่แฝงอยู่ในธุรกิจซึ่งเหนือกว่าโคคา - โคล่า  แต่บริษัทอย่างสายการบินเซาธ์เวสท์  มีกำไรน้อยนิดเพียง 7% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของธุรกิจสายการบินที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง  ซึ่งไม่มีสายการบินใดมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือเพื่อนร่วมธุรกิจเลย  ในทางกลับกัน  แม้แต่ในปีที่ดี (คือไม่ขาดทุน) จีเอ็ม  มีกำไรเพียง 3% ของยอดรวมรายได้เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจห่วยแตกที่แฝงอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการแข่งขันซูเปอร์สูง

       กฏง่ายๆ (และมีข้อยกเว้น) ก็คือ : หากบริษัทมีประวัติการทำกำไรมากว่า 20% ของยอดรวมรายได้  เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าบริษัทนั้นได้รับประโยชน์บางอย่างจากความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว  ส่วนบริษัทที่แสดงตัวเลขรายได้สุทธิต่ำกว่า 10% ของยอดรวมรายได้อย่างสม่ำเสมอ  ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงที่ไม่มีบริษัทใดมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง  แน่นอน  ระหว่างกำไร  10% และ 20% ของยอดรวมรายได้นั้น  มีพื้นที่สีเทากว้างมาก  และในพื้นที่นี้เต็มไปด้วยบริษัทมากมายที่พร้อมที่จะให้นักลงทุนเข้ามาเก็บเกี่ยวทองคำในระยะยาวซึ่งยังไม่มีผู้ใดค้นพบ

      หนึ่งในข้อยกเว้นของกฏข้อนี้คือ ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน  ซึ่งเมื่อมีอัตราร้อยละระหว่างกำไรสุทธิและยอดรวมรายได้สูงผิดปกติ  มักจะหมายถึงความไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายบริหารความเสี่ยงในขณะที่ตัวเลขของธุรกิจเหล่านี้ดูเย้ายวนใจนั้น  ความจริงมันกำลังบ่งบอกถึงการยอมรับความเสี่ยงมากกว่าเพื่อทำกำไรอย่างง่ายๆ ซึ่งในเกมของการให้กู้ยืมเงินแล้ว  มักจะเป็นสูตรสำเร็จของหายนะในระยะยาวและการประสบความหายนะทางการเงินนั้น  ไม่ใช่วิธีที่จะพาใครไปสู่ความร่ำรวยอย่างแน่นอน

กำไรต่อหุ้น : วอร์เรน บัฟเฟตต์รู้ได้อย่างไรใครคือผู้ชนะ  ใครคือผู้แพ้

           กำไรต่อหุ้น คือ กำไรสุทธิของบริษัทของแต่ละหุ้นในรอบบัญชีหนึ่ง  ซึ่งคือตัวเลขสำคัญในโลกของการลงทุน เพราะกฏมีว่า... ยิ่งบริษัทมีกำไรต่อหุ้นมากเท่าใด  ราคาหุ้นก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น  ในการที่จะทราบว่าบริษัทมีกำไรต่อหุ้นเท่าใดนั้น  ให้เรานำกำไรสุทธิของบริษัทมาหารด้วยจำนวนหุ้นที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้น  (Outstanding share) ของบริษัทตัวอย่างเช่น  หากบริษัทมีกำไรสุทธิ $10 ล้าน ในปีนั้นๆ และบริษัทมีหุ้นที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้น 1 ล้านหุ้น กำไรต่อหุ้นในปีนั้นก็คือ $10 ดอลลาร์ต่อหุ้น

          ในขณะที่กำไรต่อหุ้นเพียงปีเดียวไม่สามารถนำมาใช้บ่งชี้ว่าบริษัทหนึ่งๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนหรือไม่  แต่กำไรต่อหุ้นในระยะเวลา 10 ปีจะสามารถให้ภาพที่ชัดเจนว่า  บริษัทนั้นๆ มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวหรือไม่  และสิ่งที่วอร์เรน  บัฟเฟตต์ค้นหาคือ ภาพกำไรต่อหุ้นในช่วง 10 ปีที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ  

          อะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับตัวเลขด้านล่างนี้ 

                    08         $2.95
                    07         $2.68
                    06         $2.37
                    05         $2.17
                    04         $2.06
                    03         $1.95
                    02         $1.65
                    01         $1.60
                    00         $1.48
                    99         $1.30
                    98         $1.42

           ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้วอร์เรน  บัฟเฟตต์เห็นว่า  บริษัทมีกำไรสม่ำเสมอและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะยาว  ซึ่งเป็นสัญญานดีเยี่ยมที่บ่งว่า  บริษัทนี้มีความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว  ปกติแล้วกำไรที่สม่ำเสมอเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า  บริษัทกำลังขายผลิตภัณฑ์ตัวเดียวหรือหลายตัวซึ่งไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ อันเป็นงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง  ส่วนกำไรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  หมายความว่า  เศรษฐกิจของบริษัทแข็งแกร่งพอที่ทำให้บริษัทสามารถสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการโฆษณาหรือขยายกิจการ  หรือทำวิศวกรรมทางการเงิน  เช่น  การซื้อหุ้นคืน  เป็นต้น ได้

      บริษัที่วอร์เรน บัฟเฟตต์จะถอยห่างคือ  บริษัที่มีภาพกำไรสับสน  เอาแน่ไม่ได้  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

                    08         $2.50
                    07         $(0.45) ขาดทุน
                    06         $3.89
                    05         $(6.05) ขาดทุน
                    04         $6.39
                    03         $5.03
                    02         $3.35
                    01         $1.77
                    00         $6.68
                    99         $8.53
                    98         $5.24
       
           ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นแนวโน้มที่ต่ำลงสลับกับขาดทุน   ซึ่งบอกวอร์เรนให้รู้ว่าบริษัทนี้อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและมีแนวโน้มที่จะรุ่งหรือจะดับไปเลยก็ได้  บริษัทจะรุ่งเมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทาน  แต่เมื่ออุปสงค์มีมาก  บริษัทก็จะเพิ่มการผลิตเพื่อตอบสนองซึ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น  และนำไปสู่ภาวะอุปทานล้นตลาดในที่สุด  ภาวะสินค้าล้นตลาดทำให้ราคาตก  ซึ่งหมายความว่า  บริษัทจะขาดทุนจนกว่าตลาดจะสดใสขึ้นมาอีก  มีบริษัทนับพันที่เป็นเช่นนี้  ทำให้ราคาหุ้นผันผวนอย่างมากเนื่องจากกำไรที่ไม่คงที่  และทำให้นักลงทุนประเภทเน้นคุณค่า (Value Investor) คิดว่าคือโอกาสในการซื้อ  แต่ความจริงก็คือ  พวกเขากำลังตีตั๋วขึ้นเรือแจวที่ไม่สามารถนำนักลงทุนไปไหนได้ไกล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น